วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระธาตุเรณู พระธาตุคู่เมืองชาวเรณูนคร นครพนม

พระธาตุเรณู พระธาตุคู่เมืองชาวเรณูนคร นครพนม
"เรณูนครถิ่นนี้ชั่งมีมนต์ขลัง  ได้พบนวลนางดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง" หลายคนพอได้ยินเสียงเพลงนี้แล้วก็ต้องนึกถึงพระธาตุพนมแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านเมืองของชาวนครพนม  แต่วันนี้ผมจะพาพี่น้องไปเที่ยพระธาตุที่มีชื่อตามเพลงที่เราเคยได้ยินกันแบบตรง ๆ นั้นคือ พระธาตุเรณู นั่นเอง

นอกจาก "พระธาตุพนม" อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครพนมมาช้านาน ยังมีพระธาตุอื่น ๆ อีกหลายแห่ง แต่วันนี้กระปุกท่องเที่ยวจะพาเพื่อน ๆ ไปนมัสการ "พระธาตุเรณู" อีกหนึ่งปูชนียสถานที่สำคัญ โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระธาตุพนมมากนัก และนับว่าเป็นพระธาตุคู่เมืองชาวเรณูนคร ที่จำลองมาจากพระธาตุพนม 

          สำหรับ พระธาตุเรณูนคร ประดิษฐานอยู่ที่ วัดธาตุเรณู ณ บ้านเรณูนคร ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม องค์พระธาตุจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมองค์เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดย พระอุปัชฌาย์อินภูมิโย สูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร มีซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ของมีค่า และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมือง 


ประวัติพระธาตุเรณู

          พระธาตุเรณู ตั้งอยู่ที่ วัดธาตุเรณู แต่เดิมชื่อ วัดกลาง เพราะสร้างขึ้นตรงกลางเมือง มีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน เล่ากันมาว่าเจ้าผู้ปกครองเมืองคนแรกพร้อมด้วยอุปฮาดกรมการเมืองและราษฎรร่วมกันสร้างขึ้น แต่โบราณกาลมาถือว่าวัดกลางเป็นวัดสำคัญของเมือง เป็นวัดสำหรับกระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณีด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดกลางมาเป็น วัดธาตุเรณู ตาม พระธาตุเรณู ดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบันนี้


          พระธาตุเรณู สร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดในปัจจุบัน มีการก่อสร้างถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 แต่ยังไม่ทันจะทำการฉลองสมโภชก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายจนหมดสิ้น เป็นที่เศร้าเสียใจกันทั่ว ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสจึงประชุมเห็นพร้อมกันว่าต้องทำการก่อสร้างพระธาตุนี้ขึ้นอีกให้ได้ โดยก่ออิฐให้หนาขึ้น ทำการก่อสร้างอยู่ราวปีกว่าก็สำเร็จเรียบร้อย จึงได้จัดงานฉลองสมโภชในปี พ.ศ. 2463 


รูปแบบของพระธาตุเรณูได้จำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม (องค์ก่อนกรมศิลปากรบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2483) แต่มีขนาดเล็กกว่า สูงประมาณ 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 8.37 เมตร เรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมสูง เรือนธาตุชั้นแรกและชั้นที่ 2 ประดับด้วยซุ้มประตูหลอกและลวดลายปูนปั้นทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นส่วนองค์ระฆังทำทรงบัวเหลี่ยมประดับด้วยลายดอกจอกปูนปั้น ถัดขึ้นไปจึงเป็นส่วนของยอดซึ่งประดับด้วยฉัตรอยู่ด้านบนสุด ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน รวมทั้งของมีค่าที่เจ้าเมืองและประชาชนมีศรัทธาบริจาค

          นอกจากนั้น ภายในวัดธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของ "พระองค์แสน" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนเคารพนับถือมาก พระองค์แสนมีน้ำหนักถึง 10 หมื่น  ตามมาตราชั่งที่นิยมใช้กันในท้องถิ่น คือ 1 หมื่น เท่ากับ 12 กิโลกรัม 10 หมื่น จึงเท่ากับ 120 กิโลกรัม แต่การนับในปัจจุบัน 10 หมื่นเป็น 1 แสน เพราะเหตุนี้จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระองค์แสน" หรือ "หลวงพ่อองค์แสน" 


          ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร  ปางสมาธิ พระพักตร์เป็นแบบลาว ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว อายุประมาณ 100 ปีขึ้นไป พระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันหล่อพระองค์แสนขึ้นเพื่อจะให้เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ขจัดภัยพิบัติข้าศึกศัตรูหมู่อมิตร เป็นนิมิตรหมายถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุขแก่ประชาชนที่เคารพนับถือ ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้ได้ทำไร่ทำนากันทั่วไป และเมื่อถึงวันสงกรานต์ของทุก ๆ ปี จะมีพิธีอัญเชิญพระองค์แสนแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาและสรงน้ำด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในทุกปีช่วงวันขึ้น 11 - 15 ค่ำ เดือน 4 จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนครขึ้นเป็นประจำ ทั้งนี้ พระธาตุเรณูนคร ยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้นมัสการจะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์ สำหรับเครื่องสักการะ : ธูป 15 ดอก, เทียนขาว 2 เล่ม, พวงมาลัย, ดอกไม้, ผ้าสีเหลือง, น้ำอบไทย, ข้าวเหนียวปิ้ง และข้าวพอง 


คาถาบูชาพระธาตุเรณู

          (ท่องนะโม 3 จบ) ปุริมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม ทักขิณายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญะกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม ปัจฉิมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะสังฆะเถเรนะ จะฐาปิตัง เจติยัง สิระสา นะมามิ อิมินะ ปัญญะกัมเมนะ สะทา โสตถิ ภะวัน ตุเม

          สำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์ ท่องคาถาบูชาดวงวันเกิดว่า อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา (15 จบ)

          และนี่คือ พระธาตุเรณู แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย หากใครมีโอกาสผ่านไปแถว ๆ นั้น ก็อย่าลืมแวะไปกราบไหว้ และที่สำคัญจิตใจต้องนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้แสดงธรรมให้มนุษย์ได้ปฏิบัติตามเพื่อความดี ความมั่นคง ความเจริญทั้งกายและใจนั่นเอง


การเดินทาง 

          สำหรับการเดินทางไปกราบไหว้ พระธาตุเรณู ก็ไปง่ายมากซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ 51 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 212 ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 44 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2031 อีกประมาณ 7 กิโลเมตร และจากสถานีขนส่งมีรถสองแถวประจำทางไปพระธาตุเรณูนคร อัตราค่าโดยสารคนละประมาณ 40 บาท

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556 1-3 ก.พ.56

มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556 1-3 ก.พ.56
เที่ยวเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมีงานสำคัญของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นั้นก็คืองาน "มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556" ซึ่งจัดที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด และข่วงประตูท่าแพ นอกจากนั้นท่านก็จะได้พบกับการแสดงต่าง ๆ มากมาย มีการประกวดรถบุปผาชาติ


ขอเชิญทุกท่านร่วมงาน "มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556" ตั้งแต่วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ณ สวนสาธารณะหนองบวกหาด และข่วงประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

          จังหวัดเชียงใหม่ สมญานาม "กุหลาบแห่งล้านนา" หรือ "กุหลาบแห่งเวียงพิงค์" ดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าเขาลําเนาไพร และดอกไม้นานาพันธุ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สร้างชื่อเสียง และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนหล่อเลี้ยงเกษตรกรชาวเชียงใหม่ในการทำการเกษตร และกสิกรรมให้สามารถเลี้ยงชีพจากรุ่นสู่รุ่น 

          ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และความงดงามของธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรมระดับโลก (world class event) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ผล จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ จึงกำหนดจัดงาน มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 37 ปี ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าเฝ้ารอชมความงดงามตระการตาของมวลหมู่บุปผชาติในงาน  
 "มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556"

      
 "มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556"    โดยภายในงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดนางงามบุปผชาติ, นางงามบุปผชาตินานาชาติ, นิทรรศการทางการเกษตร, การประกวดไม้ดอก ไม้ประดับประเภทต่าง ๆ, การประกวดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ, การประกวดจัดสวน, การออกร้านของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร, มหกรรมอาหาร, การแสดงดนตรีในสวน และ กาดหมั้ว ฯลฯ 

          ทั้งนี้ สนใจสอบถามรายละเอียด
 "มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ประจำปี 2556" เพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น.