วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไหว้พระวัดระฆังชื่อเสียงโด่งดังทั้งปี

ชมหอไตร ไหว้หลวงพ่อโต กราบพระยิ้ม ที่ "วัดระฆัง"


"พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที…" รัชกาลที่ 5 ตรัสถึงพระประธานวัดระฆังฯ

ใครที่เคยไปตระเวนทัวร์ไหว้พระ 9 วัด มาแล้วก็คงจะมีโอกาสได้ไปวัดระฆังโฆสิตาราม วัดฝั่งธนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีคติว่า "ไหว้พระวัดระฆัง มีคนนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี" มาเป็นที่เรียบร้อย และสำหรับฉันที่ถือคติว่า "จะไหว้พระวัดเดียวหรือไหว้พระกี่วัดภายในกี่วันก็ไหว้กันไปเถอะ ขอให้ไหว้อย่างตั้งใจก็ได้บุญแล้ว" ก็ได้มีโอกาสไปไหว้พระที่วัดระฆังมาแล้วเช่นกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง จริงๆ แล้ววัดระฆังนี้ หากมองเผินๆ หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรโดดเด่น ไม่เหมือนวัดพระแก้วที่มีปราสาทราชวังงดงามหลายหลัง ไม่เหมือนวัดอรุณที่มีพระปรางค์ใหญ่โต ไม่เหมือนวัดโพธิ์ที่มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะแยะจนดูสามวันก็ไม่หมด ใครคิดอย่างนั้นนับว่าคิดผิดเสียแล้ว เพราะวัดระฆังก็มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกันนะ ถ้าไม่เชื่อก็ลองตามฉันมาสิ แค่นั่งเรือข้ามฟากจากท่าช้างมาก็ถึงแล้ว...
หอระฆังที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก 5 ลูก
ระหว่างนั่งเรือข้ามฟาก ฉันก็จะขอเท้าความถึงประวัติของวัดระฆังให้ฟังก่อนสักหน่อยก็แล้วกันว่า วัดระฆัง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนหน้านี้มีชื่อเดิมว่าวัดบางหว้าใหญ่ มาเปลี่ยนเป็นวัดระฆังโฆสิตารามในตอนหลังก็เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 1 ก็ได้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดระฆัง แต่จริงๆ แล้ววัดนี้ยังเคยมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดราชคัณฑิยาราม ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้ แต่คนไม่นิยมเรียก จึงเรียกกันว่าวัดระฆังมาจนถึงบัดนี้ และทำให้ใครๆ มักจะนำเอาระฆังทั้งเล็กใหญ่มาถวายที่วัดนี้เพื่อเป็นการทำบุญอีกด้วย เพราะฉันเห็นระฆังเหล่านั้นแขวนเรียงกันอยู่มากมายข้างๆ โบสถ์ พอลมพัดมาทีหนึ่งก็ได้ยินเสียงระฆังก้องกังวานไปทั่วบริเวณ แต่ฉันว่า ถ้าพูดถึงวัดระฆังขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่หลายคนต้องนึกถึงก็คือ หลวงพ่อโต และพระคาถาชินบัญชร เพราะหลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะที่มีชื่อเสียงของวัดนี้ เป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก และท่านยังเป็นผู้ที่นำเอาบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากลังกามาดัดแปลงแต่งเติมให้สมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นพระคาถาชินบัญชรที่เราๆ รู้จักกันดี ซึ่งหากผู้ใดสวดเป็นประจำแล้วก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง แน่นอนว่า ที่วัดระฆังนี้ต้องมีรูปเคารพของท่านอยู่แน่นอน แต่ก่อนที่จะไปกราบท่าน ฉันว่าเราควรจะเข้าไปไหว้พระประธานในโบสถ์กันก่อนเป็นอย่างแรกจะดีกว่า


ตำหนักจันทน์ หอพระไตรปิฎก โบราณสถานที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์โบราณสถานดีเด่น
สำหรับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังนี้มีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." น่าจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น ใครที่อยากรู้ว่า พระประธานยิ้มรับฟ้าเป็นอย่างไร เชิญมาชมได้ที่อุโบสถวัดระฆัง ไหว้พระประธานภายในโบสถ์เสร็จแล้ว ก็ลองเดินชมจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามไม่ใช่เล่น ภาพผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และภาพเดียรถีย์ท้าแข่งรัศมีกับพระพุทธองค์ ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก เมื่อได้ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้แล้วฉันบอกได้เลยว่าใครเป็นคนวาด เพราะบนภาพมีชื่อคนเขียนอยู่เรียบร้อย คือเสวกโท พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465 เมื่อออกมาจากพระอุโบสถแล้วจะเห็นว่า ด้านหน้ามีวิหารสองหลังตั้งอยู่ หลังหนึ่งนั้นเป็นวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนวิหารอีกหลังที่อยู่ตรงกันข้ามติดแอร์เย็นฉ่ำ เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัด นี้ไว้ 3 องค์ คือ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสามท่านนี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก ฉันเห็นมีคนเข้ามาสักการะท่านทั้งสามไม่ขาดสาย โดยมีเครื่องสักการะเป็นดอกไม้ มาลัยและหมากพลูต่างๆ สวดมนต์ท่องคาถาชินบัญชร และเมื่อสวดจบแล้วก็จะปิดทองที่องค์ท่านเป็นอันเสร็จ
วิหารสมเด็จ ซึ่งมีรูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระราชาคณะอีกสองรูปประดิษฐานอยู่
ไหว้ท่านทั้งสามเสร็จแล้วใครจะออกมาทำบุญกับพระประจำวันเกิด และเติมน้ำมันในตะเกียงต่อก็ได้ แต่สำหรับฉันแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจไว้ว่าเมื่อมาวัดที่นี่แล้วจะต้องไปดูให้ได้ นั่นก็คือ ตำหนักจันทน์ หรือ หอพระไตรปิฎก ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระอุโบสถ ตรงข้ามกับหอระฆัง ดูมีรั้วกั้นเป็นสัดเป็นส่วนซ่อนตัวอยู่ในร่มไม้หนา หอไตรนี้เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง แต่เดิมเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 เมื่อตอนที่ยังเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่เมื่อต้องเสด็จไปตีเมืองโคราชจึงได้รื้อตำหนักนั้นมาถวายวัดระฆัง หรือวัดบางหว้าใหญ่ในขณะนั้น มองจากด้านนอกเข้าไป สิ่งแรกที่ดูโดดเด่นก็คือซุ้มประตูตรงนอกชานซึ่งแกะสลักเป็นลายดอกไม้ ส่วนบานประตูของหอกลางแกะเป็นลวดลายนกวายุภักษ์และลายกนกเครือเถาสวยงามมาก เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปในตัวตำหนัก ความมืดกะทันหันด้านในทำเอาฉันหน้ามืดไปชั่วขณะ บรรยากาศด้านในเงียบสงบมากจนออกจะวังเวงหน่อยๆ เพราะมีเพียงฉันคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ในหอไตรแห่งนี้ สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้าไปด้านในก็คือ พระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ในหอกลาง ส่วนปีกตำหนักด้านซ้ายและขวานั้นมีตู้พระไตรปิฏกเขียนลายรดน้ำปิดทองฝีมืองดงามอยู่ด้านละใบ ตู้นี้เป็นตู้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าฯทรงลงพระหัตถ์แกะลายร่วมกับครูช่างอยุธยาด้วยพระองค์เองเสียด้วยหอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย






หลังจากได้กราบไหว้พระเรียบร้อยแล้วมีเวลาก็เดินชมสถานที่ภายในวัดสักหน่อยก็ดีไหน ๆ ก็มีพักผ่อน ทำบุญไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบ อาจจะทำบุญ ปล่อยนก ปล่อยปลา หอย เต่า ก็ดีเหมือนกันเป็นการสะเดาะเคราะห์ ที่บริเวณท่าน้ำหน้าวัดอีกครั้ง ซึ่งบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่นำเอาสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลาหลากหลายชนิด หอย เต่า มาไว้ให้ผู้ที่มาทำบุญได้ซื้อไปปล่อยกัน แต่ละร้านก็โฆษณากันไปต่างๆ นานา เช่น ปล่อยปลาสวาย เป็นการปลดปล่อยสิ่งไม่ดีในตัวเรา ปล่อยปลาดำราหูเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตา ปล่อยปลาทับทิม ช่วยเรื่องความรักได้ สารพัดจะชวนเชื่อกัน ก็เอาเป็นว่าใครที่อยากทำบุญก็เชิญกันได้ตามศรัทธา










ไม่มีความคิดเห็น: